Last updated: 17 ม.ค. 2563 | 4382 จำนวนผู้เข้าชม |
ย้อนวันวาน ตุ๊กตุ่นทอยเส้น (ตอนที่ 2)
โดย ป๋าX Atakito Kamoman
(อรรถกฤตย์ จีนมหันต์)
จากครั้งที่แล้ว ที่มาเล่าเรื่องการทอยเส้นตุ๊กตุ่น พอดีทางห้าง The Bright พระราม 2 เชิญไปเสวนา เล่าเรื่อง ..ตุ๊กตุ่นทอยเส้น.. ในงาน Toy collector 2019 เลยมาขอถ่ายคลิปสั้นๆ แนะนำกติกาให้คนที่ไม่เคยเล่นได้เห็นภาพ เลยถือโอกาสนำมาให้ชมกัน เสริมจากตอนที่ 1 ที่ผ่านมาครับ
จากคลิปที่ได้ดูกัน เป็นการเล่นแบบ 3 คน ก็จะต้องมีการคัดเลือก ผู้ที่จะได้สิทธิ์ทอยเส้น ก่อน-หลัง ซึ่งใครได้สิทธิ์โยนทีหลัง ก็จะชิงความได้เปรียบ โดยสามารถวางแผนได้ว่า จะโยนสู้ หรือโยนหลบ ไปให้ไกลๆ เพื่อให้คนที่ใกล้เส้น เตี้ยมตุ๊กตุ่น มาโดนตัวเราได้ยาก มีโอกาสรอดจากการโดนกิน ไม่เสียตัวตุ๊กตุ่น ได้ง่ายๆ
คราวนี้นอกจากทักษะฝีมือในการโยนให้แม่น และเตี้ยมให้แม่นแล้ว ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝน ซ้อมโยนด้วยตัวเอง หลายๆครั้งก่อนที่จะไปเล่นแข่งกับเด็กคนอื่นๆแล้ว อีกอย่างที่มีความสำคัญมากๆเลย ก็คือ ตัวตุ๊กตุ่นของเรานี่แหละ ที่ใช้เป็นตัวออกศึก กินตุ๊กตุ่นคนอื่นๆได้ เด็กๆในสมัยนั้น จึงมีวิธีที่แตกต่างกันไป ในการ หาวิธีทำให้ตุ๊กตุ่น ของตัวเองมีลักษณะพิเศษ คือ มีความหนึบ โยนแล้วไม่เด้งจากจุดที่เรากะไว้ให้ได้
เทคนิคแรก คือ การพันฟิวส์ตะกั่ว คือตะกั่วบัดกรี นี่แหละที่มีขายเป็นม้วนๆ เวลาเอามาพันตามแขน ขา ตุ๊กตุ่นตัวเก่งของเรา ที่จะใช้โยนทอยเส้น แล้วโยนดู มันจะไม่เด้ง โยนแล้วจะอยู่กับที่ แถวบ้านจะเรียกอีกอย่างว่า #ตัวหนึบ# คือโยนตามที่เล็งเป้าหมาย แล้วหนึบ นิ่ง ไม่กระเด้ง เด็กๆเกือบทุกคนจะใช้เทคนิคนี้กันมาก โดยเลือกตัวกางแขน หรือมีอาวุธยื่นออกมายาวๆ เอามาพันตะกั่วจะได้หนึบ และมีโอกาส ใกล้เส้นมากกว่าตัวอื่น เวลาวัดระยะตัดสินจากการใกล้เส้นกัน
ตัวฝน เทคนิคนี้ สำหรับเด็กที่หาฟิวส์ตะกั่วที่บ้านไม่มี ก็จะใช้วิธี เอาตัวตุ๊กตุ่นไปถู ฝนกับถนน หรือพื้นปูนสากๆ เพื่อให้เหลี่ยม มุม ที่นูนๆ ของตัวตุ๊กตุ่นหายไป จะได้ลดการกระเด้ง โดยถูไปเรื่อยๆ แล้ว ทดลองโยนดูว่ายังกระเด้งอยู่ไหม ถ้ายังเจอมุมที่เด้ง ก็เอามาฝนหลัง หรือ หน้าใหม่ จนพอใจ อย่าฝนให้บางมาก ตุ๊กตุ่นจะเบาไป ไม่มีน้ำหนักในการโยน
ครั้งหน้า มาต่อกับเทคนิคอื่นๆ อีกครับ ซึ่งหลังๆมานี่ตุ๊กตุ่นที่ทำจากพลาสติคแข็ง เริ่มมีปัญหา กับเด็กๆ เนื่องจากความแข็งของพลาสติค อาวุธแหลมๆที่ติดตัวตุ๊กตุ่น ไปบาดทิ่มโดนตาเด็กๆ ผู้ผลิตจึงค่อยๆ ปรับไปใช้ยางมาทดแทนพลาสติกแบบแข็งแทนในภายหลัง ซึ่งเด็กๆ ในสมัยนั้นก็รับได้ และก็เริ่มหาเทคนิคมาดัดแปลงตุ๊กตุ่นยางกันอีก คอยติดตามกันต่อไปครับ
31 พ.ค. 2567
9 ม.ค. 2565
30 เม.ย 2566
6 ก.ย. 2563