ศตวรรษสยาม-ดำเนินสะดวก

Last updated: 30 เม.ย 2566  |  1036 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศตวรรษสยาม-ดำเนินสะดวก

เอนก นาวิกมูล เขียน 11.00น. อังคาร 18 เมษายน 2566

  มีการพูดในหมู่นักสะสมมาหลายปีแล้ว ว่า ดร.วิศวกรคนหนึ่งกำลังซุ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยใช้เงินจำนวนมหาศาล

      ต่อมาก็มีการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ชื่อ “ศตวรรษสยาม” กลางสวนมะพร้าว 9 ไร่ในปี 2562

      รายการ Line กนก ของ นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ไปสัมภาษณ์เจ้าของเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วนำฉายออกอากาศเมื่อ 19 พค. 2562

 

      โดยสรุป : เจ้าของก็คือ ดร.นภดล กรณ์ศิลป (อายุ 58 ปี 2566) กับภรรยา-พรชุลี หรือ พอลลี่ -จบด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (food science) และลูกชาย 2 คน เกริก กับ ก่อ

  

      ผมว่าจะไปชมตั้งแต่ครั้งกระโน้น แต่ก็ไม่อาจไปได้เพราะภาวะโควิด-19 (2019 ก็คือ2562) คืบคลานเข้าสู่เมืองไทยพอดี การท่องเที่ยว การเดินทางหยุดชะงัก เพิ่งมาคลี่คลายได้ก็ราวปี 2565 นี้เอง

      ศุกร์ 14 เมษายน 2566 ก่อนชมสวนลิ้นจี่ของอาจารย์หน่อย- นวรัตน์ กล้ายประยงค์ และพี่น้อง ที่บางคนที ผมจึงถือโอกาสดิ่งตรงไปยังศตวรรษสยามก่อนทันที

 

      เจ้าของสวน ภรรยา กับลูกชายวัย 21 คือ ก่อ ยืนต้อนรับแขกทุกๆคน เขาพาผมเดินชมทุกห้องอย่างเต็มที่

      ผมขอจ่ายค่าเข้าชมเหมือนคนทั่วไป คือ ผู้ใหญ่ 200 บาท ผู้สูงอายุ 150 บาท  ไม่ขอชมฟรี  เพราะรู้ว่าการทำพิพิธภัณฑ์นั้นนอกจากจะต้องใช้เงินแล้ว ยังต้องการกำลังใจ การสนับสนุนด้วย (นักเรียนนักศึกษา75 บาท เด็ก 50 บาท พระเณร+ผู้พิการ ฟรี)

   

      เก็บเงินให้ตาย ค่าเข้าชมก็ไม่มีทางทำกำไรหรือเอาเงินคืนทุนได้ ยกเว้นถอดใจขายทิ้งให้ต่างชาติให้รู้แล้วรู้รอด

      ศตวรรษสยาม เก็บของหลากหลาย และมีปริมาณมากมายจนล้นทั้งห้องแสดงและคลังเก็บ แต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น บางชิ้นราคาเป็นหมื่นเป็นแสนและหลายแสน ถ้าไม่รักจริงและไม่มีเงินก็คงทำไม่ได้

      ดร.นภดล วิศกรผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ กับภรรยา เป็นคนบางนา กรุงเทพ  ดร.มีใจชอบเรื่องเก่ามาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อกับแม่ชอบพาไปวัด

      เขาและพี่ชาย ได้รับพระเครื่องมาสะสมก็จากพ่อและแม่ และเมื่อเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ก็ได้ศึกษาเรื่องธรณีวิทยา ซึ่งก็คือวิชาโบราณคดีแขนงหนึ่ง

      เขามาเจอที่ ที่ดำเนินสะดวกเข้าและเกิดความพึงพอใจ จึงตกลงใจสร้างพิพิธภัณฑ์ที่นี่ ใช้เวลาซุ่มจัดของด้วยตนเองอยู่ 5 ปีเต็ม

พิพิธภัณฑ์มี 3 ส่วน คือ

1. ตึกแถวยาวสไตล์จีนโปรตุเกส : 

      จำลองเป็นร้านขายของในชีวิตประจำวัน-ร้านขายยา -ร้านตัดผม-ร้านเสริมสวย-ร้านของเล่นการ์ตูนฮีโร่ดังๆจากญี่ปุ่น และฝรั่ง

 

      - ร้านหนังสือ มีทั้งเพชรพระอุมาตั้งแต่เล่มแรก จนสุดท้าย นิยาย ป.อินทรปาลิต บางเล่มราคาเหยียบแสน ห้องนี้เจ้าของรักมากเพราะ เป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว

 

2. เรือนไทยอันงามสง่าของตระกูล ตันยุวรรธนะ :

      ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.2461 เคยอยู่ข้างวัดกัลยาณมิตร ธนบุรี แต่ถูกเวนคืนเพื่อตัดถนนใหม่ เดิมทีเดียวมีมาคนประมูลเพื่อนำไม้ไปแยกส่วนขาย แต่มีปัญหาไม่สามารถขนไม้ไปได้

 

      ในที่สุด พลังบางอย่างคงเลือกให้ทางนี้หวนไปดูอีกครั้ง และเจ้าของพอใจอยากให้บ้านมาอยู่ที่ดำเนิน เพราะแผนผังการจัดวางทำให้บ้านดูโดดเด่น และเชื่อใจได้ว่าบ้านจะได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีแน่นอน ดร.นภดลต้องอาศัย “คุณพระช่วย” นำเงินที่ได้ไปชะลอบ้านมาปลูกใหม่ให้เหมือนของเดิม

      ตัวบ้านได้รับการออกแบบมาสวยมากๆ คือมีบันไดขึ้นด้านหน้า ผ่านซุ้มประตูแล้วเป็นลานกว้าง 

      - มีโถงที่นั่งอย่างท้องพระโรงกว้าง 3 คูหา ซึ่งกองถ่ายมาขอเช่าถ่ายละครโทรทัศน์ได้สบาย 

      - มีห้องพักสองชั้นขึ้นชมวิว เห็นคลองเล็กและสวนมะพร้าวอันร่มรื่น

      - มีบันไดลงชั้นล่างซึ่งใช้เป็นโรงงานบดยา และลงชั้นใต้ดินเพื่อหลบภัยทางอากาศในสมัยสงครามโลก

3. ร้านกาแฟ : มีน้ำมะพร้าวสดอร่อยรับรอง

4. สวนมะพร้าวริมคลองขุนพิทักษ์ : น่าเดินเล่น หรือนั่งพักผ่อน น่าถ่ายรูปใต้อุโมงค์ซุ้มมะพร้าว

 

      ศตวรรษสยามอยู่ไม่ไกลจากคลองดำเนินสะดวก เดี๋ยวนี้ใช้กูเกิ้ลแมพพาไปได้ง่าย ลัดเลาะไปตามสวนมะพร้าวสีเขียวสบายตาไม่นานก็ถึงอาณาบริเวณ

      การติดต่อสอบถาม

      โทร. 083-067-9550 / 089-818-9897  และ 086-076-1981

      ผมชื่นชอบข้าวของที่นำมาแสดง กับบรรยากาศบ้านตันยุวรรธนะมาก ไม่อยากเชื่อว่าของล้ำค่าน่าชมหลายหมื่นชิ้นจะมารวมอยู่ในที่เดียวกันได้ การจัดวางและติดตั้งห้อยแขวน น่าจะต้องใช้สมาธิ และกำลังเป็นอย่างมาก

      การสร้างพิพิธภัณฑ์คลาสสิคของครอบครัว กรณ์ศิลป เป็นเรื่องน่ายกย่อง เพราะมีแล้วเผื่อแผ่ ไม่ได้เก็บไว้ชื่นชมเพียงคนเดียว ของทุกชิ้นเป็นสิ่งน่าศึกษา ทั้งทางด้านการออกแบบ การใช้งาน และประวัติความเป็นมา

ขอขอบคุณ ดร.นภดลฯ ที่ให้เกียรติพูดถึงผมในรายการ ไลน์กนก

      นอกจากพิพิธภัณฑ์ศตวรรษสยามแล้ว ผมยังขอแสดงความระลึกถึง

  • พิพิธภัณฑ์สุขสะสม ของพรเลิศ พันธุ์พฤทธินันท์ (เฮียเม้ง) พุทธมณฑลสาย 2
  • พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น (อ.เกริก ยุ้นพันธุ์ อยุธยา)
  • โรงถ่าย ชมเฌย ของจักรทิพย์ สัจจาภิบาลธร(บอย คลองมหาสวัสดิ์ฝั่งเหนือ ใกล้พุทธมณฑลสาย 3 -ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี)
  • เมืองโบราณ บางปู สมุทรปราการ ก่อตั้งโดยนายเล็ก วิริยะพันธุ์ เริ่มก่อสร้าง2506 เปิดเมื่อ 2515
  • เรือนไทยสาคร อำเภอสามชุก จ.สุพรรณบุรี ของ สุจิตต์ เล่ห์จันทร์พงศ์(เช็ง)
  • บ้านไร่กาแฟ ของสายชล เพยาว์น้อย อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี
  • พิพิธภัณฑ์ผู้พันไก่ จังหวัดพิษณุโลก
  • พิพิธภัณฑ์จ่าทวี พิษณุโลก
  • และพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของนักสะสมอีกหลายคน ที่ผมเคยเขียนถึงในเฟซ ในหนังสือสารพัดเก็บ-ภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ ฯลฯ
  • ตลอดจน หนังสือชุดคลาสสิคทั้ง 8 เล่ม

      เราเป็นหนี้นักเก็บเหล่านั้น ไปให้กำลังใจ ศตวรรษสยาม และพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายกันให้มากๆ

ศตวรรษสยาม-ดำเนินสะดวก

เอนก นาวิกมูล

เขียน 11.00น. อังคาร 18 เมษายน 2566

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้