Last updated: 17 ม.ค. 2563 | 7578 จำนวนผู้เข้าชม |
แบงก์กาโม่
โดย ดร.นภดล กรณ์ศิลป
ในช่วงยุค 1970 ตอนต้น ภาพยนตร์แนวฮีโร่จากประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบครองตลาดในประเทศไทยอย่างที่แทบจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว ในยุคนั้นเด็กไทยแทบทุกคนจะต้องรู้จักฮีโร่ประเภท ไอ้มดแดง และ อุลตร้าแมน เมื่อถึงเวลาที่ภาพยนตร์พวกนี้ออกอากาศเด็กๆ จะนั่งรอดูฮีโร่ของเขาต่อสู้กับสัตว์ประหลาดอย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียว หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่นในยุคนั้นก็คือ Spectreman (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในคอลัมน์ คลังความรู้ของเวปไซต์นี้ หัวข้อ กาโม่ มนุษย์กายสิทธิ์) ซึ่งเป็นฮีโร่รุ่นแรกที่มาครอบครองหัวใจเด็กไทยในสมัยนั้นอย่างเต็มร้อยเลยทีเดียว
ภาพยนตร์เรื่อง Spectreman เข้ามาฉายในประเทศไทยเมื่อต้นปี 1971 ในชื่อไทยว่า "กาโม่ มนุษย์กายสิทธิ์" ทำให้เด็กๆไทยเราเรียกพระเอกซึ่งในความเป็นจริงชื่อ Spectreman ว่า กาโม่ กันจนติดปากเพราะชื่อเรื่องภาษาไทยของเรานั่นเอง โดยในเนื้อหาของภาพยนตร์นั้น กาโม่ เป็นชื่อของพระเอกในร่างที่ยังไม่ได้แปลงกายเป็น Spectreman ชื่อจริงของพระเอกในเรื่องก็คือ กาโม่ โจจิ ที่มีอาชีพเป็นนักข่าวนั่นเอง จากความนิยมของภาพยนตร์ดังกล่าว จึงได้มีพ่อค้าคิดค้นของเล่นชนิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาขายให้เด็กไทยในสมัยนั้นนั่นเอง หนึ่งในของเล่นที่เด็กๆยุคนั้นต้องมีไว้อวดกันก็คือ แบงก์กาโม่ แบงก์กาโม่ยุคแรกๆ จะจัดทำอย่างปราณีตมาก ดังรูปประกอบบทความนี้ ใบแรก (บัตรกาโม่)
ถัดมาเนื่องจากความต้องการมีปริมาณมากขึ้น การจัดทำบัตรกาโม่ในรุ่นถัดมาจึงมีความละเอียดและความพิถีพิถันในการออกแบบลดลง ดังบัตรกาโม่ ใบที่สองในบทความนี้
จากนั้นด้วยความนิยมในการนำแบงก์กาโม่ไปเล่นกันของเด็กๆ จึงได้มีการผลิตแบงก์ชนิดอื่นๆ ขึ้นมาเลียนแบบบัตร หรือแบงก์กาโม่ อาทิเช่น บัตรหุ่นอภินิหาร ดังรูปใบที่สามของบทความนี้ครับ หรือแบงก์ซุปเปอร์แมนในยุคหลังๆ หรือแบงก์รูปซุปเปอร์ฮีโร่รุ่นใหม่ๆ แต่เราก็ยังคงเรียกของเล่นแนวธนบัตรปลอมประเภทนี้ว่า แบงก์กาโม่ เหมือนที่เรานิยมเรียกผ้าอนามัยว่า โกเต๊กซ์ และเรียกผงซักฟอกว่า แฟ๊ป นั่นเองครับ
31 พ.ค. 2567
30 เม.ย 2566
6 ก.ย. 2563
9 ม.ค. 2565