Last updated: 17 ม.ค. 2563 | 4850 จำนวนผู้เข้าชม |
ปรอทไม้ ยุคพระนคร
โดย ดร.นภดล กรณ์ศิลป
ในบรรดาของแจกของแถมในอดีตนั้น ของแจกประเภทที่นักสะสมนิยมเก็บกันมากชนิดหนึ่งก็คือ ปรอท หรือเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิภายในบ้าน ตามคำนิยามแล้วนั้นเทอร์โมมิเตอร์ก็คือเครื่องมือสำหรับวัดระดับความร้อน โดยอาศัยหลักการที่ว่าของเหลวเมื่อได้รับความร้อนก็จะมีการขยายตัวและจะหดตัวเมื่อได้รับความเย็น ของเหลวที่นิยมนำมาใช้ใส่ไว้ในกระเปาะแก้วของเทอร์โมมิเตอร์ก็คือสารปรอทและ แอลกอฮอล์นั่นเอง ทั้งนี้เพราะสารทั้งสองชนิดนี้มีความว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างยิ่ง และที่สำคัญก็คือของเหลวทั้งสองชนิดนี้ไม่เกาะผิวของหลอดแก้ว แต่โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ปรอทเป็นของเหลวสำหรับการทำเทอร์โมมิเตอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในประเทศไทยเราจึงมักจะเรียกเทอร์โมมิเตอร์ว่าปรอทกันจนติดปากไปแล้ว
ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2480 ถึง 2490 มีการผลิตเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้แผ่นไม้เป็น Background โดยตัวอักษรและรูปภาพประกอบการโฆษณาที่จารึกลงในแผ่นปรอทไม้ส่วนใหญ่จะเป็นงานศิลปแบบ Handmade โดยใช้สีฝุ่นลงพื้น ดังนั้นปรอทไม้ ยุคพระนครแต่ละชิ้นจึงมีความเป็นเอกลักษณ์สูงมาก ปรอทไม้ยุคพระนครนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้วัดอุณหภูมิภายในบ้านและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทห้างร้านต่างๆ จึงต่างพากันผลิตออกมาเพื่อแจกเป็นของกำนัลในวาระต่างๆ ขององค์กร โดยมักจะแจกให้กับเอเย่นต์เป็นหลัก อาทิ ห้างขายยา เช่น ห้างขายยาวัดสามจีน บริษัท เยาวราช จำกัด ผู้ผลิตหมากหอมเยาวราช ห้างพระจันทร์โอสถ ห้างขายยา บี. เอ็ล. ฮั้ว ห้างขายยาตรามังกร ผู้ผลิตยานัดตราหมอชิต บริษัทไทยปิ่นเพ็ชร์ จำกัดผู้ผลิตยาแก้ปวดยี่ห้อทันที (คู่แข่งทันใจในสมัยนั้น) ห้างบริบูรณ์โอสถผู้ผลิตขี้ผึ้งบริบูรณ์บาล์ม เป็นต้น
ประเภทเครื่องดื่ม อาทิเช่น น้ำส้มดุสิต เบียร์ตราม้าทอง น้ำส้มเฟรเซอร์ เบียร์ไทยหรือเบียร์สิงห์นั่นเองรวมทั้งโซดาตราสิงห์ด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้บริษัทตัวแทนผู้จำหน่ายนาฬิกาก็ผลิตปรอทไม้ออกมาแจกด้วยเช่นกัน อาทิเช่น นาฬิกาอีเล็กชั่น นาฬิกามิโด โดยห้างยูไนเต็ดว๊อชแอนด์กัมปนี นาฬิกาโอเล่อร์ นาฬิกาเท๊กโน๊ส โดยห้างไทยวอชคอมปานี เป็นต้น
พวกถ่านไฟฉายก็มีเช่น ถ่านไฟฉายเอเวอเรดี้ ยิ่งไปกว่านั้นประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลังก็มี อาทิเช่น เครื่องดื่มรังนกอีแอ่น โดยบริษัทรังนกอีแอ่นสยาม หรือแม้กระทั่งบริษัทประกันชีวิต ก็ยังผลิตปรอทไม้ ออกมาเป็นของกำนัลให้กับเอเย่นต์และลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทด้วย จึงกล่าวได้ว่าปรอทไม้จึงเป็นของแถมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคนั้น
ในแง่มูลค่าการเก็บสะสมนั้น ปรอทไม้ยุคพระนคร ในปัจจุบันเป็นของสะสมที่มีราคาค่อนข้างสูงในวงการงานของสะสมในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ยังคงเป็นของที่นักสะสมระดับตัวจริงเสียงจริงแสวงหาเป็นอย่างยิ่ง โดยมีมูลค่าการสะสมในชิ้นที่สวยๆ ต้องว่ากันถึงหลักหมื่นกลางๆ เลยทีเดียวเชียวครับ (อ้างอิง การซื้อขายพ.ศ. 2562) สำคัญที่สุดเลยคือในปัจจุบันไม่ค่อยพบการหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดเลย เพราะของส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของนักสะสมที่มีระดับและกระเป๋าหนักเสียเป็นส่วนใหญ่แล้วครับ
บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจรวบรวมปรอทไม้ยุคพระนคร ที่กระจัดกระจายอยู่ตามรังของนักสะสมมือต้นๆ ของประเทศเพื่อนำมาลงให้เป็นวิทยาทานกับนักสะสมและผู้สนใจในงานของสะสมในอดีตให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และการศึกษา รวมทั้งใช้อ้างอิงได้ในอนาคต จึงขอขอบพระคุณนักสะสมทุกท่านที่ช่วยกรุณาแบ่งปันภาพถ่ายปรอทไม้ ยุคพระนครที่ท่านสะสมไว้ มาลงให้ชมในบทความนี้ ดังมีรายชื่อต่อไปนี้ครับ
1. คุณฉัตรชัย พ้นชั่ว เจ้าของร้าน 7 tique จ.ระยอง
2. คุณศุภชัย ชัยวัฒน์ หจก.น้ำแข็งแม่กลอง
3. พิพิธภัณฑ์ ศตวรรษสยาม Museum in the Park
4. คุณประเสริฐ ลิ้มสกุล (กร ท่าพระ)
5. คุณวีระพงศ์ อิทธิมณีรัตน์ (หนึ่ง บ้านโป่ง)
6. คุณนทีกาญจน์ ตั้งไพศาลกิจ (เล็ก Legato Piano)
7. คุณอติเทพ ชัยสวัสดี
ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ
31 พ.ค. 2567
6 ก.ย. 2563
9 ม.ค. 2565
30 เม.ย 2566