ร้านขายยา (โบราณ)

Last updated: 17 ม.ค. 2563  |  5228 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ร้านขายยา (โบราณ)

ยุคก่อนสมัยรัตนโกสินทร์

การค้าขายยานั้นได้มีการอนุมานในเบื้องต้นว่าอาจเริ่มต้นในสมัยที่ชาวโปรตุเกสได้ค้นพบเส้นทางเรือที่อ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปมายังประเทศอินเดียได้เป็นชาติแรก และเริ่มมีการค้าขายกับประเทศอินเดีย จากนั้นจึงได้มีความพยายามที่จะเดินเรือออกไปไกลเรื่อยๆ ไปยังชาติตะวันออกที่ไกลขึ้น ต่อมาโปรตุเกสได้เข้ายึดเมืองมะละกาและทราบต่อมาว่ามะละกาอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของไทย จึงพยายามเอาใจประเทศไทยโดยการส่งทูตคือ ร้อยโท ดูดารต เฟอนันเดส มาขอเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และเริ่มทำการค้าขายกับไทย ประมาณปี พศ 2061 อันตรงกับสมัยแผ่นดินของพระรามาธิบดีที่ 2 การค้าเริ่มขึ้นเป็นอย่างดีโดยมีการเซ็นสัญญาไมตรีให้ตั้งที่ทำการค้าขาย โปรตุเกสสัญญาจะนำปืนมาแลกเปลี่ยนและตั้งกองทหารอาสาช่วยเหลือไทยเมื่อมีสงคราม


**สันนิษฐานว่ายาฝรั่งจะเข้ามาในสมัยนี้และที่ใช้กันต่อมาคือยาจำพวกขี้ผึ้งและยาใส่แผล ขนมที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ ทองหยิบ ฝอยทอง สังขยา**

ในเวลาต่อมาฝรั่งชาติอื่นๆก็ได้เดินเรือมาตามเส้นทางเดียวกันกับโปรตุเกส อาทิเช่น สเปน ฮอลันดา และอังกฤษในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ประมาณปี พ.ศ. 2205) มีฝรั่งชาติฝรั่งเศสเข้ามาเป็นครั้งแรก มีแพทย์ฝรั่งเศสได้ปรุงยาไทยถวายหลายตำรับ และได้มีทูตไทยไปกรุงปารีสหลายคณะคาดว่าจะมีการคุ้นเคยกับยาฝรั่งมากขึ้น

ทว่าหลังจากนั้นไทยมีสงครามกับพม่าอยู่หลายครั้งหลายครา ทำให้ตำรายาไทยและยาฝรั่งเสียหายและเสื่อมหายไปในช่วงสงครามดังกล่าว



ยุคต้นและกลางสมัยรัตนโกสินทร์

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นไม่ค่อยมีฝรั่งมาติดต่อกับไทยเนื่องจากยุโรปกำลังเกิดสงครามใหญ่ และในสมัย รัชกาลที่ 1 ไทยมีสงครามกับพม่าถึง 7 ครั้ง พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเป็นกังวลกับสภาวะดังกล่าวจึงไม่อยากติดต่อค้าขายกับต่างชาติในช่วงเวลาดังกล่าว

ต่อมาในสมัย รัชกาลที่2 (ประมาณพ.ศ. 2361) มีทูตชาวโปรตุเกสซึ่งได้ทำความดีความชอบไว้เป็นอย่างมากจึงได้มีการตั้งสถานทูตโปรตุเกสขึ้นในประเทศไทยซึ่งเป็นสถานกงศุลแห่งแรกของประเทศ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีชาวฝรั่งมาเจริญไมตรีอีกครั้งหนึ่ง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น

ในช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่ามีการใช้และซื้อขายยาฝรั่งกันในช่วงนี้ แต่ไม่มีบันทึกไว้เนื่องจากการพิมพ์ยังไม่เกิดขึ้นในยุคนั้น

สมัยรัชกาลที่ 3 หรือประมาณ พ.ศ. 2367 มีชาวสก๊อตแลนด์ที่รู้จักกันในนาม หันแตร ได้เข้ามาทำการค้าขายสรรพสินค้าต่างๆ เช่น ผ้าฝรั่ง ผ้าแขก อาวุธปืน รวมทั้ง **ยาควินิน** มีการสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งแรก มีการโฆษณาขายยาแผนปัจจุบันครั้งแรก ต่อมากิจการขายยาควินินได้โอนให้หมอบรัดเลย์

ช่วงปี พ.ศ. 2378 หมอบรัดเลย์เป็นมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาไทยเพื่อเผยแพร่ศาสนา เมื่อมาถึงเมืองไทยได้เพียง 20 วัน ได้ตั้งโอสถศาลาเป็นเรือนไม้ 2 หลัง บริเวณวัดสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน มีการจ่ายยารักษาโรค จึงถือเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่เปิดห้างขายยาฝรั่งในประเทศไทย ในบันทึกพงศาวดารกล่าวว่า วันที่ 30 ตุลาคม 2378 ถือเป็นวันที่เภสัชกรรมชุมชนได้ก่อกำเนิดอย่างเป็นระบบ มีเภสัชกรคือนาย ยอน แบติส เป็นผู้ช่วยผสมยาให้หมอบรัดเลย์ ในทางกลับกันยาฝรั่งก็ยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากการศึกษาทางการแพทย์และเภสัชกรรมยังไม่กำเนิดขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่หมอบรัดเลย์เปิดห้างขายยาได้ 80 ปี ถึงมีเภสัชกรคนแรกของประเทศเมื่อปี 2458

ช่วงปี 2415 สมัย ร5 ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนตะวันตกเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมาก เริ่มมีการรักษาแผนตะวันตกมีแพทย์คนแรกของประเทศที่จบการศึกษาจากอเมริกา เริ่มมีชาวต่างชาติมาตั้งธุรกิจขายยามากหลายแห่ง ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันคือ ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)ก่อตั้งขึ้น ปีพ.ศ. 2435โดยนายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ และ ดร.ปีเตอร์ กาแวน เปิดเป็นร้านขายยาที่ทันสมัย มีเภสัชกรประจำตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยมีสัญลักษณ์รูป "งูถูกศรปัก" เป็นเครื่องหมายการค้า

บริษัทดีทแฮล์มมาเปิดร้านขายสินค้าทั่วไปภายหลังทำธุรกิจขายยา ส่วนใหญ่ห้างขายยาเจ้าของจะเป็นแพทย์ชาวฝรั่ง มีการแข่งขันเชิงการค้าเนื่องจากความนิยมเริ่มมากขึ้น มีการโฆษณาใบปลิวยาสมัยนั้นไม่มีพรบยา และใบประกอบโรคศิลปะ ทำให้การค้าขายยาเป็นไปอย่างเสรี ผู้คนนิยมใช้ยาฝรั่งมากขึ้นเนื่องจากผลการรักษาที่หายเร็วทันใจ เช่น ผงไอโอโดฟอร์มใส่แผลกามโรคเริ่มมีชื่อเรียกยาฝรั่งเป็นภาษาไทยเช่น ยาขาว(Zinc Oxide) เกลือสมาน(Boric acid) น้ำมันระกำ(Wintergreen Oil)

ต่อมาทางราชการได้มีการสั่งให้ผลิตยาเองเนื่องจากห้างขายยาขายยาราคาแพง 2-3 เท่าของยาเมืองนอก มีการขึ้นราคายามากตอนยาขาด ได้เภสัชกรชาวเยอรมันมาดูแลการผลิต ในปี พศ 2445 ผลิตยาครั้งแรก 8 ชนิด คือ Quinine sulfate, Soda mint, Cathartic compound, Bismuth Pill, Mecury Iodide, Santonin and calomel, Opium compound กำไรจากการขายยาได้กำไรมาก 40%

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

มีการฝึกงานที่ร้านขายยาที่กองโอสถศาลา พ.ศ. 2482 นายโอสถ เกษมสุวรรณ เภสัชกรคนแรกของไทย เข้าเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ เล่าว่ามีการกำหนดให้ฝึกงานร้านยา 1,000 ชั่วโมง จึงจะรับปริญาได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีร้านขายยาเปิดขึ้นมาก ทั้งแบบมีป้ายและเป็นเพียงสำนักงาน มีการกักตุนยา และการขาดแคลนยา มีห้างขายยาของไทยที่ผลิตและจำหน่ายยา โดยเฉพาะยาที่ขายดีคือ ยาฉีดควินินเนื่องจากราคาไม่แพง ยาน้ำทิงเจอร์ ยาธาตุน้ำแดง ร้านยามีเภสัชตลอดเวลาและทำการปรุงยาเอง เริ่มมีบริษัทต่างชาติมายังประเทศไทยมากขึ้นมีระบบดีเทลติดต่อกับแพทย์โรงพยาบาล มีการโฆษณายา มีรถเร่ขายยาตามชนบทโดยการฉายภาพยนตร์ก่อน


พ.ศ. 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการส่งเสริมการลงทุนโดยชักชวนให้ชาวต่างประเทศมาลงทุนด้านอุตสาหกรรม มีโรงงานยามาตั้งการผลิตเพิ่มจาก 10 โรงงาน เป็น 50 โรงงาน ภายใน 4-5 ปี ร้านขายยาที่เคยผลิตเองโดยเภสัชกรจึงยกเลิกมาขายให้ประชาชนอย่างเดียว และเมื่อมี พระราชบัญญัติยาในปี พ.ศ. 2510 การขายยาแบบเร่ขายจึงหมดลงและร้านยาที่มีมาตรฐานก็ได้กำเนิดขึ้นมานับแต่นั้นมา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้